วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สมัยรัชกาลที่ 2

สมัยรัชกาลที่ 2
            สมัยรัชกาลที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ทรงครองราชย์ พ.ศ.2352 ซึ่งเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย ในรัชสมัยนี้ปรากฏมีการบันทึกถึงเรื่องราวมวยไว้ในวรรณคดีหลายเรื่อง บางเรื่องก็เป็นพระราชนิพนธ์ในพระองค์เอง เช่น
            บัดนี้                                                       ประชาชนคนดูอักนิษฐ์
            เห็นเหาะทั้งสองข้างต่างมีฤทธิ์               ให้คิดพิศวงงงงวย
            บ้างแหงนหน้าอ้าปากตะลึงตะไล          แลดูภูวไนยเอาใจช่วย
            เบียดเสียดเยียดยัดดังดูมวย                     แซ่ซร้องร้องอำนวยอวยชัย
                                                                                         สังข์ทอง  หน้า  172
            มีทั้งโขนละครมอญรำ                            มวยปล้ำค่ำลงจงมีหนัง
            ตีประโคมฆ้องกลองให้ก้องดัง              ให้หีบตั้งใส่ศพให้ครบครัน
                                                                                          ขุนช้าง ขุนแผน  หน้า 892
            ให้เปรียบคู่ผู้หญิงชกมวยปล้ำ                 ข้างหนึ่งดำข้างหนึ่งขาวสาวขยัน
            การเกงลายสายถักเสื้อกั๊กกัน                 ต่างตั้งมั่นแหม่นเหม่คนเฮฮา
            เข้าทุบทอยต่อยตะกายป่ายปุบปับ          เสียงตุบตับเตะผางถูกหว่างขา
            การเกงแยกแตกควากเป็นปากกา           ผู้ชายฮาเฮลั่นสนั่นดัง
            ต่างเหนื่อยหอบหมอบทรุดให้หยุดอยู่     จูงมือคู่ปล้ำเข้ามาหน้าที่นั่ง
            ต่างประหม่าหน้าตื่นยืนเก้งกัง                เขาทุบหลังให้บังคมประพรมน้ำ
            แล้วลุกขึ้นยืนประจัญขยั้นขยับ              เข้ายุดาจับขาแข้งแย่งขยำ
            ต่างกอดเกี้ยวเกลียวกลมล้มคะมำ          คนหนึ่งคว่ำคนหนึ่งหงายผู้ชายฮา
            ขึ้นอยู่บนคนคว่ำขยำขยิก                       คนล่างพลิกผลักแพลงไขว้แข้งขา
            กอดประกับกลับไพล่พลิกไปมา            คนดูฮาเฮสนั่นครื้นครั่นไป
                                                                                                       สิงหไกรภพ  หน้า 302 303

            นิทานคำกลอนที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2  แสดงถึงภาพลักษณ์ของกีฬามวยไทยไว้ชัดเจนว่าเป็นการแข่งขันที่มีคนนิยมกันมากที่สุดในสมัยนั้น และเป็นการบันเทิงชนิดหนึ่ง ในงานเทศกาลประเพณี เช่น งานสงกรานต์ ลอยกระทง เข้าพรรษา เทศกาลกฐิน งานบวช งานแต่ง หรืองานฉลองสมโภชต่าง ๆ มักจะมีพิธีทางศาสนาและการบันเทิงควบคู่กันไป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจในการพระศาสนาแล้วยังได้ความสนุกสนานบันเทิงใจ ได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยสืบต่อไป การบันเทิงที่เป็นกีฬา เช่นวิ่งวัว มวยปล้ำ การแข่งเรือในหน้าน้ำหลาก เล่นว่าวในฤดูหนาว ที่ต้องอาศัยความแข็งแรง ความสามารถคีและความพร้อมเพรียงกันด้วย (ศิริกุล  สันติชาติ. 2536 : 237 239)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น