วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การไหว้ครูร่ายรำมวยไทย

การไหว้ครูร่ายรำมวยไทย
            การชกมวยไทยในสมัยโบราณก่อนการชกมวยจะต้องมีการไหว้ครูร่ายรำมวยไทยก่อน ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฎิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การไหว้ครูเป็นถวายบังคมพระมหากษัตริย์ เพราะในสมัยโบราณการชกมวยจะมีขึ้นหน้าพระที่นั่งเป็นประจำ ทั้งการไหว้ครูเป็นการระลึกถึงคุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้มวยไทยให้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและทำให้มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหว ควบคุมสติได้ดี ส่วนการร่ายรำเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของครูมวยแต่ละสำนัก นอกจากนั้นการร่ายรำยังเป็นการอบอุ่นร่างกายให้คลายความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะต่อสู้ได้ทันที ทั้งเป็นการดูเชิงคู่ต่อสู้พร้อมสำรวจพื้นบริเวณที่จะทำการชกมวย เพราะในสมัยโบราณการชกมวยจะชกกันบนลานดินในบริเวณวัด

เครื่องดนตรีประกอบมวยไทย
            เครื่องดนตรีปี่กลอง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการไหว้ครูร่ายรำมวยไทยและการชกมวยไทย วงดนตรีปี่กลองที่มีจังหวะท่วงทำนองช้าและเร็วตามช่วงของการแข่งขัน เมื่อไหว้ครูร่ายรำมวยไทย ท่วงทำนองก็จะช้าช่วยให้ลีลาในการร่ายรำดูอ่อนช้อย งดงาม เป็นจังหวะน่าชม และเมื่อเริ่มการแข่งขัน เสียงดนตรีก็เริ่มมีจังหวะเร็วขึ้นบอกให้ผู้ได้ยินรู้ว่าขณะนี้นักมวยกำลังใช้ชั้นเชิงต่อสู้กัน เมื่อถึงยกสุดท้ายจังหวะดนตรีก็ยิ่งเร่งเร้ามากขึ้น เร้าใจให้นักมวยที่กำลังต่อสู้กันเร่งพิชิตคู่ต่อสู้ และเร้าใจให้ผู้ชมรอบสนามตื่นเต้นกับการต่อสู้ของนักมวยทั้งสองพร้อมผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า จังหวะดนตรีจึงเป็นส่วนสร้างความรู้สึกของนักมวยและผู้ชมให้สนุกสนานตื่นเต้นกับการแข่งขันได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
            เครื่องดนตรี ที่นำมาบรรเลงประกอบการแข่งขันชกมวยไทยมีชื่อเรียกว่า วงปี่กลอง มีนักดนตรีร่วมบรรเลง จำนวน 4 คน เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 2 ใบ และฉิ่ง 1 คู่
            ปี่ชวา ทำเป็น 2 ท่อน เหมือนปี่ไฉนคือ ท่อนเลาปี่ ยาวราว 27 ซม. ท่อนลำโพง ยาวราว 14 ซม. เจาะรูนิ้ว รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉนทุกอย่าง แต่มีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน คือปี่ชวา เมื่อสวมท่อนลำโพง และเลาปี่เข้าด้วยกันแล้ว ยาวประมาณ 38 39 ซม. ตรงปากลำโพงกว้างขนาด
เดียวกันกับปี่ไฉน ทำด้วยไม้จริง หรืองา ส่วนที่ต่างจากปี่ไฉนก็คือตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ทำให้บานออกเล็กน้อย เสียงที่เป่าออกมาจึงแตกต่างจากปี่ไฉน เรานำเอาปี่ชวามาใช้แต่เมื่อไรไม่อาจทราบ
ได้แต่คงนำเข้ามาใช้คราวเดียวกับกลองแขก เมื่อกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้น ปรากฏว่ามีการใช้ปี่ชวาในกระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดำเนินแล้ว เช่นมรการกล่าวถึงใน ลิลิตยวนพ่าย ว่า
            สรวญศรัพทพฤโฆษฆ้อง                  กลองไชย
            ทุมพ่างแตรสังข์  ชวา                          ปี่ห้อ
            ซึ่งคงหมายถึงปี่ชวาและปี่ห้อหรือปี่อ้อ ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขก ใช้เป่าประกอบการเล่น กระบี่ กระบอง การแสดงละครเรื่องอิเหนา ตอนรำกริช และใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์ และใช้ในวงดนตรีที่เรียกว่าวง ปี่ชวากลองแขก วงเครื่องสายปี่ชวา และวง บัวลอย ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ จำปี่ เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย
            กลองแขก มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า หน้าลุ่ย กว้างประมาณ           20 ซม. อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียกว่า หน้าด่าน กว้างประมาณ 17 ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ 47 ซม. ทำด้วยไม้จริงหรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนังสองหน้าด้วยหนังลูกวัว หรือหนังแพะ ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ แต่ต่อมาในระยะหลังคงหาหวายใช้ไม่สะดวก บางคราวจึงใช้สายหนังโยงก็มี สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูง เรียกว่า ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียกว่า ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองแบบนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า กลองชวา กลองชนิดนี้มีใช้ในวงดนตรีของไทยมาแต่โบราณ ในกฎหมายศักดินามีกล่าวถึง หมื่นราชาราช พนักงานกลองแขก นา 200 และมีลูกน้อง เรียกว่า ชวากลองเลวนา 50 บางทีแต่เดิมคงจะนำมาใช้ในขบวนแห่เสด็จพระราชดำเนิน เช่น กระบวนช้าง และกระบวนเรือ ใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวา ต่อมาใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพนในวงปี่พาทย์และใช้แทนโทนรำมะนาในวงเครื่องสายด้วย
            ฉิ่ง เป็นเครื่องตีทำด้วยโลหะหล่อหนา เว้ากลางปากผายกลม รูปคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น สำรับหนึ่งมี 2 ฝา แต่ละฝาวัดผ่านศูนย์กลางจากสุดขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง ประมาณ 6 ซม. ถึง 6.5 ซม. เจาะรูตรงกลางเว้า สำหรับร้อยเชือก เพื่อสะดวกในการถือตีกระทบกันให้เกิดเสียงเป็นจังหวะ ฉิ่งที่กล่าวนี้สำหรับประกอบวงปี่พาทย์ ส่วนฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสาย และวงมโหรี มีขนาดเล็กกว่านั้น คือ วัดผ่านศูนย์กลางเพียง 5.5 ซม. ที่เรียกว่าฉิ่งก็คงเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้น
จากการเอาขอบของฝาหนึ่งกระทบเข้ากับอีกฝาหนึ่งแล้วยกขึ้น จะได้ยินเสียงกังวานยาวคล้าย ฉิ่ง แต่ถ้าเอาสองฝานั้นกลับกระทบประกบกันไว้
จะได้ยินเสียงคล้าย ฉับ เครื่องตีชนิดนี้ สำหรับใช้ในวงดนตรีประกอบการขับร้องฟ้อนรำ และการแสดงนาฏกรรม โขน ละคร
            การบรรเลงดนตรีประกอบการแข่งขันชกมวยไทย ปรมาจารย์ทางดนตรีได้วางบทเพลงในแต่ละอาวุธเพลงไว้ไม่เหมือนกัน นาค  เทพหัสดินทร์    อยุธยา. (2531 : 18) กล่าวว่า การไหว้ครูของกระบี่ กระบองนั้นใช้เพลงชมสมุทร เพลงโฉลก เพลงเกาะ หรือเพลงระกำ การโหมโลงใช้เพลงแขกโอด เพลงสารถี เพลงเยี่ยมวิมาน แขกไทร การรบกันใช้เพลงจำปาทองเทศ ขอมทรงเครื่อง เป็นต้น
            สำหรับการบรรเลงดนตรีปี่กลองประกอบการแข่งขันชกมวยไทยนั้น คล้ายกับการบรรเลงประกอบกระบี่ กระบอง เนื่องจากวงดนตรีประเภท วงปี่กลอง เหมือนกันจะแตกกันก็ตรงบรรเลงดนตรีประกอบการแข่งขันมวยไทยนั้น ประกอบด้วยเพลงสามตอน คือ ตอนหนึ่งบรรเลงเพลงโหมโรง ตอนที่สองบรรเลงเพลง สะระหม่า ตอนที่สามบรรเลงเพลงในการไหว้ครู นิยมบรรเลงเพลงสองชั้น เช่น เพลงมอญรำดาบ เป็นต้น สำหรับเพลง สะระหม่านั้น นับเป็นเพลงเฉพาะของปี่
            ในสมัยสวนกุหลาบ พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี แม่กลองเสือป่า เป็นผู้เป่าปี่ มีลูกน้องในคณะตีกลองแขกและฉิ่ง ในการแข่งขันชกมวยระหว่างคู่ของ นายทับ  จำเกาะ กับ นายประสิทธิ์  บุญยารมณ์ ส่วนคู่ของ นายยัง  หาญทะเล กับ นายจี๊ฉ่าง นักมวยจีน มีวงปี่กลองของ หมื่นสมัคร  เสียงประจิต บรรเลงเพลง ซึ่งทั้งสองคู่เป็นคู่มวยที่มีผู้คนสนใจเข้าชมมากเป็นประวัติการณ์
(สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2540)        

2 ความคิดเห็น:

  1. มีอ้างอิงป่าวคร้าบ ผมขอได้หรือป่าวคร้าบพี่ prajuk6012@hotmail.com ขอบคุนไว้ล้วงน่าเลยคร้าบผม

    ตอบลบ
  2. "ข้อมูลอัดแน่นๆ เต็มๆ เลยนะครับ"
    :: เพลงปี่ชวากลองแขก

    ตอบลบ