วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สมัยรัชกาลที่ 5

สมัยรัชกาลที่ 5
            สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2411 พระองค์ทรงศึกษาศิลปะมวยไทยมาจากสำนักมวยหลวง ซึ่งมีปรมาจารย์หลวงมลโยธานุโยค (เสรี  อาจสาลี 2520  : 131) ครูมวยหลวงเป็นผู้สอนทำให้พระองค์ทรงโปรดกีฬามวยไทยมาก
ในสมัยนี้การฝึกหัดมวยได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศ เพราะได้จัดให้มีการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานพระราชทาน
เพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายอุรุพงศ์รัชสมโภช นักมวยที่เจ้าเมืองนำมาแข่งขันล้วนแต่คัดเลือกคนที่มีฝีมือดี การแข่งขันครั้งนี้ได้นักมวยที่สามารถชกชนะคู่ต่อสู้หลายคน และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ได้แก่
            หมื่นมวยมีชื่อ เป็นนักมวยจากไชยา ซื่อนายแปรง  จำนงทอง ลูกศิษย์พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ  ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา
            หมื่นมือแม่นหมัด เป็นนักมวยจากลพบุรี ชื่อนายกลึง  โตสะอาด
            หมื่นชงัดเชิงชก เป็นชาวโคราช ชื่อนายแดง  ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์คุณพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช มีชื่อในเรื่องการใช้หมัดเหวี่ยงควาย
พ.ศ.2430 ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตั้งกรมศึกษาธิการ การจัดระบบการศึกษาไทย จึงเป็นขั้นตอนมากขึ้น โดยการเรียนการสอนของพลเรือนแยกออกจากการทหาร  วิชามวยไทย เป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา และในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งทางโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถือว่าวิชามวยไทย เป็นวิชาที่สำคัญมากในหลักสูตร ทำการฝึกหัดมวยไทย สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง พ.ศ.2437 ร้อยเอกขุนเจน  กระบวนหัด ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนวิชามวยไทย ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
            ในสมัยนี้ กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง แล้วมีการปรับปรุงใน พ.ศ.2499 และ พ.ศ.2502 โดยถือว่าการแข่งขันชกมวยเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่ต้องเสียภาษีอากร  คำว่า มหรสพ ตามความหมายในประมวลรัษฎากร หมายความว่า การแสดง (Show or Exhitions) การเล่น (Play or Performances) หรือการกีฬา (Games or Sports) การประกวด (Competition or Comtests) หรือการกระทำใด ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดู (มาตรา 130 แห่งประมวลรัษฎากร) เช่น ภาพยนตร์ ละคร ลำตัด งิ้ว เต้นรำ กายกรรม ฟุตบอล แข่งม้า ชนโค ประกวดสัตว์หรือพืชต่าง ๆ เป็นต้น การแข่งขันชกมวย มวยปล้ำ หรือการแสดงกีฬาพื้นเมือง เก็บอากรร้อยละ 15 ของค่าดู หากเป็นกีฬา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจัด เก็บอากรร้อยละ 10 ของคนดู แต่จะได้รับการยกเว้นอากรถ้าเป็นการจัดเพื่อบำรุงสาธารณประโยชน์ จัดในเขตวัดหรือใกล้วัด ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปี หรือกีฬาสำหรับสถานศึกษา เป็นต้น
            ในช่วง พ.ศ.2325 2411 ซึ่งอยู่ในระหว่าง รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี การฝึกหัดมวยไทยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการทหารและการป้องกันประเทศชาติ ยามว่างจากศึกสงคราม ก็มักจะฝึกหัดมวยไทย ไว้เพื่อเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของลูกผู้ชาย และจัดชกกันเพื่อความสนุกสนานเหมือนกับสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี เพราะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ระยะนี้ยังใช้กฎหมายตราสามดวง ปกครองบ้านเมือง ซึ่งรวบรวมมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา
            พ.ศ.2411 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี มีการจัดเก็บภาษีอากรต่าง ๆมากมาย แต่ไม่มีการเก็บภาษีการจัดแข่งขันชกมวย เพราะการแข่งขันชกมวยในสมัยนี้ ส่วนมากจะจัดแข่งขันตามสนามมวยชั่วคราว จัดเป็นประเพณี จัดเป็นการกุศล นักมวยก็ชกไม่ได้เงินมากมายนัก ดังนั้น การฝึกหัดมวยไทยสมัยนี้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้ารับราชการทหาร บางคนฝึกไว้เพื่อชกมวยตามงานเทศกาลต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น