วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สมัยหลักเมืองท่าช้าง

สมัยหลักเมืองท่าช้าง  ปัจจุบันคือ ราชนาวีสโมสร
            สมัยหลักเมืองท่าช้าง พ.ศ.2466 2472 สนามมวยท่าช้าง ได้จัดมวยขึ้นต่อจากสนามมวยสวนกุหลาบ ซึ่งมี พลโทพระยาเทพหัสดิน เป็นนายสนามทำหน้าที่บริหารจัดการแข่งขันมวยไทย
สนามตั้งอยู่บริเวณที่เป็นโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน สนามมวยแห่งนี้ ได้ปรับปรุงสภาพของสนามให้ดีกว่าเดิม สนามแน่นหนาถาวร มีเชือกกั้นสนามเส้นใหญ่ขึ้น เสาเชือกแข็งแรงมั่นคงยิ่งขึ้น ทางขึ้นลงไม่มี เพราะนักมวยที่ขึ้นชกกันในสมัยสวนกุหลาบ มีหลายครั้งนักมวยตกเวทีตรงช่องขึ้นลง ตังอย่างเช่น การชกระหว่าง นายหวัง  มะหะหมัด นักมวยฝีมือดีแห่งคณะศรไขว้ กับนายก้อน  แห่งจังหวัดราชบุรี ขณะที่นายหวังถูกรุกไล่และไหลไปตรงช่องทางขึ้นลง พอดีกับจังหวะที่
นายก้อน ชกหมัดตรงถูกหน้าของ นายหวัง เซถลาตกเวที เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในสนามมวยสวนกุหลาบ (เขตร  ศรียาภัย, 2516)
            สมัยนี้เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของกีฬามวยไทย มีการเปลี่ยนแปลงจากการคาดเชือกมาเป็นแบบสวมนวม สาเหตุเพราะในสมัยหลักเมืองท่าช้างนี้ มีนักมวยชกกันตายต่อสายตาผู้ชมรอบสนามมวยเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก นักมวยที่ชกคู่ต่อสู้ตายก็คือ นายแพ  เลี้ยงประเสริฐ นักมวยฝีมือดีจากท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ต่อยนายเจีย  แขกเขมร ด้วยหมัดคาดเชือกจนตาย หลังจากที่เกิด
เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ คณะกรรมการหลายฝ่ายรวมทั้งทางการตำรวจ ได้ตกลงให้การชกมวยไทยทั่วประเทศมีการสวมนวม และสวมถุงเท้าแทนรองเท้า โดยนักมวยคู่แรกที่สวมนวมชกที่สนามหลักเมืองท่าช้างคือ นายคำเหมย  เมืองยศ นักมวยฝีมือดีจากลานนา ซึ่งขณะนั้นเข้ามาซ้อมอยู่ค่ายทวีสิทธิ์ ของครูกิมเส็ง ชกกับ นายนพ  ชมศรีเมฆ นับว่าเป็นคู่มวยประวัติศาสตร์ในวงการกีฬามวยไทย แต่การชกปรากฏว่านักมวยทั้งสองที่สวมถุงเท้าชกมักจะหกล้ม หรือไม่ก็เสียจังหวะขณะที่เตะ จนทำให้การชกไม่สะดวกเท่าที่ควร นักมวยไม่กล้าเตะ คนดูก็ไม่พอใจ ต่อมาให้เลิกใส่ถุงเท้า แต่ยังคงสวมนวมแทนหมัดคาดเชือกอยู่ กรรมการในสมัยนี้ที่มีชื่อเสียงก็คือ นายนิยม   ทองชิตร์ (ครองจักร  งามมีศรี, 2530)

1 ความคิดเห็น: