วิ่งชิงธง (วิ่งวัวคน)
วิ่งชิงธงหรือวิ่งชิ่งวัวคนเป็นการเล่นที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย นิยมเล่นกันในจังหวัดต่างๆของภาคกลาง การวิ่งลักษณะนี้เป็นการวิ่งเร็วนั่นเองสันนิษฐานว่าเลียนแบบมาจากการแข่งขันวิ่งวัวหรือวิ่งควายที่ใช้วัวหรือควายวิ่งแข่งกันจริงๆ การเล่นนี้มีมาแต่โบราณโดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันในสมัยกรุงสุโขทัย เรียกว่า คนแล่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า วิ่งวัว วิ่งควาย วิ่งวัวควาย และโคคน เป็นต้น ชาวบ้านในสมัยก่อนนิยมเล่นวิ่งวัวคนเพื่อเป็นการประลองความเร็ว เพื่อการออกกำลังกายตลอดจนเล่นเพื่อความสนุกสนาน และมักเล่นหลังฤดูเก็บเกี่ยวโดยใช้ทางเกวียนเป็นที่วิ่งมีการขึงเชือกกลางทางเกวียนเพื่อวิ่งชิงธงกัน ต่อมามีการพัฒนาเล่นเป็นทีมโดยจับมือกันออกวิ่งแล้วชิงธงและจากหลักฐานพบว่ามีการเล่นวิ่งวัวคนในงานนักขัตฤกษ์ต่างๆ งานเทศกาล งานประจำปี
ปัจจุบันกีฬาวิ่งวัวคนตามรูปแบบการเล่นในสมัยก่อนยังมีปรากฏอยู่บ้างในท้องถิ่นชนบท
อุปกรณ์
1. ธงพร้อมเสาหลักสำหรับเสียบธง
2. เสาหลักสำหรับพันเชือกผูกเอว
3. มีดหรือขวาน
4. ราวเชือกผูกธงสี
วิธีเล่น
1. จัดสถานที่เล่นที่เป็นพื้นกว้าง ความยาว 20 เมตร (พิจารณาจากสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ) ที่เส้นเริ่มปักเสาหนึ่งต้นและวัดจากเส้นเริ่มไปตามความยาวที่กำหนดปักหลักสำหรับเสียบธง
2. ผู้เล่นมี 2 คน ให้ผู้เล่นทั้งสองคนผูกเอวด้วยเชือกแล้วนำไปคล้องไว้กับเสาที่เส้นเริ่ม ผู้เล่น ยืนเตรียมพร้อมที่จะออกวิ่ง กรรมการดูให้ผู้เล่นอยู่ในเส้นเริ่มระดับเดียวกัน ถ้าเล่นเป็นทีมให้มีผู้เล่นทีมละ 9 คน ผู้เล่นจะจับมือออกวิ่งพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่ม
3. กรรมการให้สัญญาณปล่อยตัวผู้วิ่งและตัดเชือกที่ผูกเสาออก ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องวิ่งอย่างเร็วที่สุดไปที่เสาเส้นชัยที่ปักธงไว้และคว้าธงออกจากเสา ถ้าเป็นทีม ทีมที่วิ่งดึงธงออกจากเสาได้ก่อนเป็นผู้ชนะ กรณีจับธงพร้อมกันทีมที่จับธงสูงกว่าเป็นผู้ชนะโดยยึดด้านธงเป็นหลัก
กติกา
1. ผู้เล่นแต่ละคน (แต่ละทีม) ต้องไม่วิ่งเบียด วิ่งตัดหน้า หรือแกล้งผู้เล่นอื่นและขณะวิ่งต้องไม่วิ่งล้ำออกนอกช่องวิ่ง
2. ผู้เล่นจับมือออกวิ่งพร้อมกันและมือต้องไม่หลุดออกจากกัน
3. ผู้วิ่งหรือทีมที่ดึงธงออกจากเสาก่อนเป็นผู้ชนะ
4. มีกรรมการอย่างน้อย 2 คน ทำหน้าที่ปล่อยตัวและควบคุมการแข่งขันและตัดสินผลการแข่งขัน
*******************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น