กระบี่กระบอง
กระบี่กระบอง เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่มีข้อมูลที่อ้างอิงได้จากราชนิพนธ์ และวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่อง เช่น อิเหนา ที่ปรากฏว่าตัวละครในเรื่องมีความสามารถด้านกระบี่กระบอง หลักฐานเกี่ยวกับกระบี่กระบองมาชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานกีฬาชนิดนี้มาก ถึงกับทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ทรงหัดกระบี่กระบอง
ในสมันรัชกาลที่ 5 กระบี่กระบองได้รับความนิยมอย่างสูง พระองค์ทรงโปรดให้มีการแข่งขันกระบี่กระบอง ฟันดาบ มวยไทย ต่อหน้าที่ประทับ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระบี่กระบอง ได้รับการสนับสนุนเป็นกีฬาพื้นบ้านของไทย มีการจัดแสดงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2482 ที่ท้องสนามหลวง
กระบี่กระบอง ได้รับการบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรของประโยคครูผู้สอนพลศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2479 โดยท่านอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา จากนั้น กระบี่กระบองจึงได้เผยแพร่ในฐานะกีฬาไทยจนถึงปัจจุบัน
อุปกรณ์
1. สนาม เป็นพื้นที่ราบเรียบ สี่เหลี่ยมผืนผ้า ควรกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร ไม่มีสิ่งกีดขวาง
2. เครื่องกระบี่กระบอง ประกอบด้วยอาวุธหลายชนิดที่มีลักษณ์แตกต่างกัน ได้แก่
กระบี่ เป็นอาวุธที่ใช้ทั้งฟันและแทง มีรูปร่างแบนยาวปลายแหลม มีด้ามจับ มีโกร่งสำหรับกันไม่ให้ถูกฟันมือที่ถือ และปลอกเก็บตัวกระบี่ มีชื่อท่า ลอยชาย ควงทัดหู เหน็บข้าง ตั้งศอก แหวกม่าน เชิงเทียน
ดาบ เป็นอาวุธสำหรับฟันแทง รูปร่างแบนและโค้งตอนปลายเล็กน้อย มีชื่อท่า ต่อด้าม เรียงหมอน ตัดหัวเทียน ส่องกล้อง สอดสร้อยมาลา ฯลฯ
ง้าว เป็นอาวุธที่ใช้ได้ทั้งฟันและแทง รูปร่างและประโยชน์คล้ายดาบ แต่สามารถต่อสู้ในระยะไกล มีชื่อท่า ทวนหน้า พับศอก พายเรือ ต่อข้อ ฉากพิฆาต วงเวียนวิบาก ฯลฯ
พลอง เป็นอาวุธสำหรับตี บางที่เรียกว่า สี่ศอก รูปร่างยาวเท่ากันตลอดไม่มีหัวท้าย มีชื่อท่า ทิ้งหลังวาดหน้า แนบกาย สลับฟันปลา ไต่ราวบน ลดล่อ ฯลฯ
ดั้ง ใช้ป้องกันการฟันแทง มีรูปร่างสี่เหลี่ยมยาวและโค้งคล้ายกาบกล้วย ประกอบด้วยดั้งกับมือถือมักใช้คู่กับดาบ
เขน เป็นเครื่องป้องกันอาวุธเช่นเดียวกับดั้ง รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีที่ถืออยู่ด้านใน
โล่ เป็นเครื่องป้องกันอาวุธชนิดหนึ่ง รูปร่างกลมและนูนตรงกลางเหมือนก้นกระทะ มีห่วงและที่ถือด้านใน
ไม้สั้น เป็นเครื่องสวมกับแขนท่อนปลาย ใช้ต่อสู้กับพลอง
10
เครื่องแต่งกาย
1. เครื่องแต่งกายแบบนักรบไทยโบราณ
2. มงคล
3. ผ้าประเจียด
วิธีเล่น
1. ไหว้ครู ถวายบังคม พรหมสี่หน้านั่งและพรหมยืน
2. การเดินแปลง
3. การต่อสู้
*******************************************
ว่าว
ว่าวเป็นหนึ่งในกีฬาและการเล่นของคนไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศมาช้านานม “ว่าว” มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ คติ ความเชื่อ วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมรวมทั่งการพักผ่อนหย่อนใจและความบันเทิงของคนไทยทั้งที่เป็นสามัญ พ่อค้า ขุนนาง และกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประเทศที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้กีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ลดความนิยมลงไป ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวกันนี้ก็ได้เพิ่มเติมบทบาทของ“ว่าว” อย่างใหม่เข้ามาในสังคมไทย โดยเฉพาะในส่วนของการจัดเทศกาลว่าวทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
“ว่าว” ในประวัติศาสตร์ไทย
ในสมัยกรุงสุโขทัย....มีธรรมเนียมในการใช้ว่าวมีเสียงชนิดหนึ่งชักขึ้นในพิธีของลัทธิพราหมณ์เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆและธรรมเนียมในการใช้ว่าวในพระราชพิธีนี้ยังมีเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา....ในหนังสือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เล่าถึงพระราชพิธีบุษยาภิเษกในเดือนยี่ว่าเป็นนักขัตฤกษ์ที่นางสนมกำนัลได้ดูการชัก“ว่าวหง่าว”ซึ่งมีเสียงไพเราะเสนาะโสตยิ่ง และในกฎมนเทียรบาลในสมัยอยุธยาได้ห้ามชักว่าวข้ามพระราชวัง หากละเมิดมีโทษถึง ตัดมือ
ชนิดของว่าว
ว่าวทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1. ว่าวปลา เช่น ปักเป้า อีลุ้ม ว่าวประเภทนี้ประดิษฐ์และเล่นกันโดยทั่วไป
2. ว่าวเดือน เป็นว่าวจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
3. ว่าวจุฬา เป็นว่าวในท้องถิ่นแถวภาคอีสานและว่าวจากภาคใต้
4. ว่าวผีเสื้อ เป็นว่าวจากอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
5. ว่าวหน้าควาย เป็นว่าวจากภาคใต้ ในเขตจังหวัดสตูล
วัสดุที่ใช้ทำว่าว
1. ไม้ไผ่สำหรับเหลาทำโครง
2. กระดาษสาหรือกระดาษแก้ว ใบลานหรือใบตาลใช้ติดโครงไม้ทำปีกของว่าว
3. กาวเชือกไนล่อน
4. สีในการเขียนลวดลายตกแต่ง
12
5. มีด
6. กรรไกรสำหรับตัดกระดาษ
วิธีเล่น
ชาวบ้านโดยทั่วไปมักนิยมเล่นว่าวในช่วงเปลี่ยนฤดู “ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ”ซึ่งหมายถึงลมที่พัดจากทิศเหนือลงทิศใต้ (คือช่วงฤดูหนาว) โดยผู้เล่นคนหนึ่งเป็นคนวิ่งว่าว เมื่อว่าวติดลมแล้วจึงปล่อยให้ว่าวลอยอยู่ในอากาศจนกว่าจะนำลง
*****************************************
ตะกร้อเตะทน
ตะกร้อเตะทน เป็นกีฬาไทยที่คนในสมัยโบราณคิดค้นหาวิธีการมาใช้เล่นให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและลักษณะนิสัยของคนไทย ทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยหวาย คนไทยในสมัยโบราณจึงนำเอาหวายมาใช้ทำประโยชน์ต่าง ๆ เช่น กระบุง ตะกร้า เป็นต้น รวมทั้งนำมาใช้คดแปลงเป็นอาวุธเพื่อใช้ในการฝึกซ้อม การต่อสู้และยังนำหวายมาถักเป็นลูกตะกร้อเพื่อใช้เล่นในยามว่าง อีกด้วย
อุปกรณ์
ลูกตะกร้อหวายวงละ 1 ลูก
วิธีเล่น
1. ผู้เล่นวงละ 6 คน แต่ละทีมสามารถส่งทีมเข้าแข่งขันได้หลายทีม แต่ใช้คะแนนวงที่ได้คะแนนสูงสุดวงเดียว
2. ผู้ตัดสินวงละ 1 คน
3. เมื่อหมดเวลาการแข่งขันผู้ตัดสินจะนำคะแนนของแต่ละวงส่งที่คณะกรรมการกลาง
กติกา
1. ทีตะกร้อแต่ละวงทั้งหมดลงสนามแข่งขันพร้อมกัน
2. ใช้เวลาในการเตะตะกร้อในแต่ละวง 5 นาที
3. (ุ้เล่นสามารถใช้ทุกส่วนของร่างกายในการส่งตะกร้อให้ผู้เล่นอื่นในทีมได้
4. ถ้าลูกตะกร้อตกให้เก็บขึ้นมาเล่นใหม่
5. การนับคะแนน จะนับเมื่อผู้เล่นส่งลูกให้ผู้ร่วมทีม
6. ถ้าเล่นลูกคนเดียวจะนับเพียง 1 คะแนน
7. เมื่อหมดเวลา 5 นาที ทีมตะกร้อวงใดทำคะแนนได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ
**********************************************
หมากรุก
หมากรุก เป็นกีฬาไทยที่นิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แม้แต่ในสำนักมีบันทึกว่าพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงโปรดหมากรุกมาก และมักใช้หมากรุกเพื่อทดสอบสติปัญญาของข้าราชบริพาร และยังเป็นที่นิยมเล่นกันมากในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ในงานเทศกาล งานประเพณีต่าง ๆ เพื่อสร้างความสนุกสนาน นับว่าเป็นกีฬาไทยที่ไม่แบ่งชั้นวรรณะ หมากรุกเป็นกีฬาไทยที่ใช้สติปัญญาและเป็นภูมิปัญญาไทยที่ควรอนุรักษ์ สืบสานสู่รุ่นต่อไป
อุปกรณ์
1. กระดาน ตีตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส 64 ช่อง แต่ละด้านมี 8 ช่อง แต่ละช่องเรียกว่า ตา
2. หมาก แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 16 ตัว ตัวหมากจะใช้สีแตกต่างกันเพื่อแบ่งแยกให้ชัดเจน เช่น สีขาว สีดำ แต่ละฝ่ายแบ่งออกเป็นพวก 6 พวก ดังนี้
2.1 เบี้ย รูปกลมแป้นเล็ก ๆ มี 8 ตัว
ทำหน้าที่บุกตลุยเปิดทางให้กองทัพ การเดินต้องเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว ครั้งละ 1 ตา เมื่อเดินไปถึงแนวตั้งของฝ่ายตรงข้าม จะหงายเบี้ยและสามารถเดินทแยงได้รอบตัว เวลากินฝ่ายตรงข้าม เบี้ยจะต้องกินทแยง ไม่กินตรง
2.2 เรือ รูปกลมแป้นเหมือนกัน แต่ตัวใหญ่กว่าเบี้ย มี 2 ตัว
เดินได้รอบตัว ซ้าย ขวา หน้า หลัง จนสุดบริเวณ แต่ต้องเดินตรง ห้ามเดินทแยง และถ้ามีตัวใดขว้างหน้าอยู่ก็เดินไม่ได้ ยกเว้นเป็นตัวของฝ่ายตรงข้ามสามารถกินได้ ถือเป็นตัวรบที่สำคัญต้องระวังอย่าให้ถูกกิน
2.3 ม้า รูปหัวม้า มี 2 ตัว
มีวิธีเดินที่ซับซ้อนมาก คือเดินไขว้ทแยงได้ 3 ตา เรียกว่าเดินตาเฉียงสาม ทั้งปฏิบัติการได้ทั้ง สี่ทิศ
2.4 โคน รูปกลมสูง มี 2 ตัว
เดินได้ครั้งละ 1 ตา เดินหน้าตรง ทแยงซ้าย ขวา หน้า หลัง แต่ห้ามถอยหลังตรง หรือเดินตรงไปทางข้าง ๆ
2.5 เม็ด รูปร่างคล้ายโคน แต่ขนาดเล็กและเตี้ยกว่า มี 1 ตัว
เดินทแยงครั้งละ 1 ตา เดินได้รอบตัวทั้ง 4 ทิศ ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้ขุนเม็ดมีสิทธิพิเศษ คือ เมื่อเริ่มเดินครั้งแรก สามารถเดินตรง ๆ ไปข้างหน้าได้ 2 ตา ต่อจากนั้นจะต้องเดินทแยงอย่างเดียว
2.6 ขุน รูปกลมสูง มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมากทั้งหมด มี 1 ตัว
เดินได้รอบตัว ครั้งละ 1 ตา ทแยงซ้ายขวาหน้าหลังได้ทั้งหมด ขุนถือเป็นแม่ทัพถ้าพลาดถูกกินถือว่าแพ้ทันที
15
คำศัพท์ที่ควรรู้
กิน คือ หมากฝ่ายตรงข้ามเดินมาในทางเดียวกับฝ่ายเรา ฝ่ายเราจึงเดินหมากวางบนตาเดียวกัน แล้วยกหมากตัวที่เดินล่วงล้ำเข้ามาออกไป
ผูก คือ การเดินหมากให้สอดคล้องสัมพันธ์กันจะได้ช่วยแก้หรือกินตอบแทนเมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามกิน
ขาด คือ ตรงข้ามกับผูก หมายถึง การเดินหมากที่ขาดตอน ไม่มีตัวช่วย เมื่อถูกกินก็เสียหมากเปล่า ไม่สามารถตอบแทนได้
รุก หมายถึง อันตราย เมื่อฝ่ายหนึ่งเดินหมากเข้ามาจนถึงตาของขุน ฝ่ายหลังคือ ฝ่ายถูกรุก จะต้องเดินตัวขุนหนีจากตาเดิมทันที ห้ามเดินตัวอื่น เพราะมีหลักว่าจะยอมให้ตัวขุนถูกกินไม่ได้ ถ้าถูกกินถือว่าแพ้ ต้องหนีไปจนกว่าหมดทางเดินจึงเรียกว่าแพ้
รุกฆาต หมายถึง ฝ่ายรุกเสียเปรียบอย่างไม่อาจป้องกันได้ การรุกฆาต มักเกิดจากม้า เพราะการเดินของม้าจำยาก
เปิดรุก หมายถึง ขุนเดินออกจากกลุ่มหมากที่มาล้อมอยู่ไปเผชิญหน้ากับเรือ หรือเปิดช่องทางให้ฝ่ายตรงข้ามรุก
ปิดรุก หมายถึง การที่ฝ่ายรุกไม่ต้องการเดินขุน จึงเอาตัวอื่นมาบัง เรียกว่าปิดรุก
หลบรุก หมายถึง การเอาขุนที่ถูกรุกไปหลบในที่ปลอดภัย
กินรุก หมายถึง การกินฝ่ายตรงข้ามและรุกด้วย เมื่อถูกรุก กับกินรุกตัวนั้นด้วยชั้นเชิงที่เหนือกว่า
อับ หมายถึง ขุนไม่มีตาเดิน เพราะถูกฝ่ายตรงข้ามล้อมไว้ ในการเล่นหมากรุกมีกฎว่า การล้อมให้ขุนจนนั้น ขุนต้องจนในตาที่ขุนต้องเดิน จะล้อมจนขุนหมดทางเดินไม่ได้
จน คือ การที่ขุนสิ้นทางเดินต่อไป เพราะถ้าเดินก็เข้าเขตฝ่ายตรงข้ามกินได้ ถ้าไม่เดินก็ถูกกิน เพราะถูกรุก อย่างนี้นับว่าพ่ายแพ้ จน
*****************************************
กีฬาพื้นบ้านไทย
ภูมิปัญญาไทย More Than Sports
ชักคะเย่อ
ชักคะเย่อ
ชักคะเย่อ เป็นการละเล่นกีฬาพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีมาแต่สมัยโบราณ มีการเล่นสืบทอดกันมายาวนาน สันนิษฐานได้ว่าดัดแปลงมาจากการละเล่นซักส้าว ซึ่งมีลักษณะการเล่นดึงกันไปมา และมีการแข่งขันในกรีฑานักเรียน ครั้งแรกของกรมศึกษาธิการ ณ ท้องสนามหลวง พ.ศ.2441 และแพร่หลายในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคกลาง นิยมแข่งกันเป็นหมู่คณะ 7 – 20 คน การเล่นชักคะเย่อเป็นที่นิยมกันเล่นในงานเทศกาล งานประเพณี ต่างๆ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
อุปกรณ์
1. เชือกขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 20 – 30 เมตร จำนวน 1 เส้น
2. ผ้าแดง 3 ผืน สำหรับใช้ผูกเป็นเครื่องหมายที่เชือก 3 ระยะ คือ ผืนหนึ่งผูกไว้ตรงกลางความยาวของเชือก อีก 2 ผืน ผูกไว้โดยวัดจากกึ่งกลางของเชือกออกไป ข้างละ 2 เมตร
วิธีการเล่น
1. จัดหาสถานที่ให้กว้างเพียงพอ ขีดเส้นยาวลงบนพื้น หนึ่งเส้นเป็นเส้นแบ่งแดน ห่างจากเส้นแบ่งแดนออกไปข้างละ 2 เมตร ตีเส้นยาวขนานกับเส้นแบ่งเขตแดนของแต่ละฝ่าย
2. นำเชือกมาวางลงที่พื้นตามยาว ให้เชือกพาดผ่านเส้นแบ่งแดน โดยให้กึ่งกลางเชือกทับเส้นเขตแบ่งแดนของแต่ละฝ่ายพอดี ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายอยู่คนละแดน ยืนเป็นแถวตอนเดียว ผู้เล่นแบ่งเป็นทีมชายหรือทีมหญิง ทีมละ 10 - 20 คนตามต้องการ
3. เมื่อเริ่มเล่นให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจับเชือกไว้ทุกคนเป็นแถวตอนดึงเชือกให้ตึงพอประมาณ ให้ผ้าแดงที่ผูกไว้อย่างกึ่งกลางเชือกตรงกับเส้นแบ่งแดนพอดี
4. เมื่อได้ยินสัญญาณ ให้แต่ละฝ่ายออกแรงดึงเชือกเข้ามายังเขตแดนฝ่ายตน ฝ่ายใดดึงเชือกจนผ้าแดงที่ผูกเชือกฝ่ายตรงข้ามเข้ามายังเขตแดนตนได้จะเป็นผู้ชนะ ฝ่ายใดชนะ 2 ครั้ง ติดต่อกัน หรือ 2 ใน 3 ครั้ง จะเป็นผู้ชนะเด็ดขาด
กติกา
1. ผู้เล่นแต่ละทีมจะต้องจับเชือกไว้หลังผ้าแดง ซึ่งอยู่ทางฝ่ายตนและยืนอยู่หลังเส้นเขตแดนของตน
2. ขณะดึงห้ามส่วนใดของร่างกายถูกพื้น ยกเว้นเท้า
3. ห้ามนำเชือกไปผูกไว้กับสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะการพันเอวและพันแขน
4. ผู้ฝ่าฝืนกติกาจะถูกปรับแพ้
5. กรรมการเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันและตัดสินผลการแข่งขัน คำตัดสินยุติ
********************************************
ม้าศึก
ม้าศึก เป็นกีฬาพื้นบ้านของเด็กไทยมาแต่สมัยโบราณ เป็นการละเล่นเลียนแบบการขี่ม้าของผู้ใหญ่ เด็กอยากขี่ม้าด้วยแต่ไม่มีม้า จึงเลียนแบบโดยการให้เพื่อนเป็นม้าแทน โดยวิธีการเล่นจะแบ่งเป็นชุด ๆ ละ 3 คน สองคนจับมือกัน อีกคนอยู่ด้านหลังยกเท้าหน้าขึ้นพาดบนมือเพื่อนที่จับกันไว้ อีกสองมือจับบ่าเพื่อนทั้งสอง เมื่อเพื่อวิ่งไปก็จะยกตัวเขย่งตามไปด้วย การละเล่นแบบนี้เป็นการฝึกการสปริงข้อเท้า
วิธีเล่น
1. กำหนดสถานที่เล่นโดยตีเส้นเริ่มต้นและเส้นชัย ห่างกัน 10 เมตร
2. ผูเล่นทีมละ 9 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด ๆ ละ 3 คน
กติกา
1. ผู้เล่นชุดที่ 1 และ 3 ให้ยืนอยู่ที่เส้นเริ่มต้น ส่วนชุดที่ 2 ให้ยืนอยู่ที่เส้นชัย โดยให้คนที่เป็นม้าทั้งสองยื่นมือข้างซ้ายและข้างขวามาจับกันไว้
2. เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่ม ผู้เล่นที่ 1 ที่เป็นคนขี่จะเอาขาข้างหนึ่งพาดบนมือผู้เล่นทั้งสองที่เป็นม้าและใช้มือโอบคอคนที่เป็นม้าทั้งสองไว้แล้ววิ่งไปที่เส้นชัยเมื่อถึงเส้นชัยก็เปลี่ยนคนใดคนหนึ่งที่เป็นม้ามาเป็นคนขี่แทนแล้ววิ่งไปที่เส้นเริ่มต้นแล้วเปลี่ยนให้คนที่เป็นม้าอีกคนที่ยังไม่เป็นคนขี่มาเป็นคนขี่ม้าแทนแล้ววิ่งไปยังเส้นชัย พอถึงเส้นชัยก็เปลี่ยนเป็นชุดที่ 2 และ 3 ให้ปฏิบัติเหมือนกับชุดที่หนึ่ง
3. ทีมที่ใช้เวลาน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะ
4. กรรมการเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันและการตัดสิน
**************************************
กระโดดเชือกหมู่
กระโดดเชือกหมู่ เป็นการละเล่นกีฬาพื้นบ้านของคนไทยทุกภาค มีการเล่นกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางนิยมเล่นกันมากในหมู่เด็ก และวัยหนุ่มสาว
อุปกรณ์
เชือกไนล่อนหรือเชือกธรรมดาขนาดเท่าหัวแม่มือ ความยาวประมาณ 5 เมตร
วิธีการเล่น
ให้แต่ละทีมเตรียมคนทำหน้าที่แกว่งเชือก 2 คน คน กระโดด 18 คน รวม 20 คน
กติกา
1. เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่มต้น ให้ผู้ที่ทำหน้าที่แกว่งเชือกทั้ง 2 คน แกว่งเชือก
2. ให้ผู้กระโดดเชือกเข้าไปกระโดดเชือกต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ผู้แกว่งเชือกต้องแกว่งเชือกไม่หยุด
3. ทีมใดมีผู้เข้าไปกระโดดเชือกได้มากที่สุดภายใน 3 นาที เป็นผู้ชนะ กรณีที่ผู้กระโดดเชือกเข้าไปครบหมดแล้ว ให้นับจำนวนรอบทีมใดจำนวนรอบมากที่สุดเป็นผู้ชนะ
4. กรรมการเป็นผู้ควบคุมการตัดสิน
*****************************************
วิ่งตะขาบหรือแข่งเรือบก
วิ่งตะขาบ เป็นกีฬาพื้นบ้านของจังหวัดกาญจนบุรี นิยมเล่นกันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ในงานเทศกาลต่าง ๆ
อุปกรณ์
ไม้ไผ่ที่มีลำตรงยาวประมาณ 2.5 – 3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว แต่ไม่เกิน 5 นิ้ว
วิธีเล่น
1. ใช้สถานที่แข่งขันที่มีบริเวณกว้าง มีความยาวประมาณ 20 เมตร ตีเส้นสองเส้นขนานกัน โดยกำหนดเส้นหนึ่งเป็นเส้นชัยอีกเส้นหนึ่งเป็นเส้นเริ่มต้น
2. การเล่นแบ่งผู้เล่นเป็นทีม ๆ ละ 9 คน
3. ให้แต่ละทีมยืนเป็นแถวคร่อมไม้ไผ่ โดยใช้มือทั้งสองจับไม้ไผ่ไว้ ให้คนที่เป็นหัวแถวยืนอยู่หลังเส้นเริ่มต้น
4. เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่ม ให้ทุกคนวิ่งไปที่เส้นชัย ห้ามไม้ไผ่ที่คร่อมอยู่ลากพื้น มือทั้งสองของผู้เล่นต้องจับไม้ไผ่อยู่ตลอดเวลา
กติกา
1. ให้แต่ละทีมมีอุปกรณ์คือไม้ไผ่ ที่มีขนาดเท่ากันทีมละ 1 ลำ
2. ให้คนหัวแถวของแต่ละทีมยืนอยู่หลังเส้นเริ่มต้น ให้ทุกคนใช้มือทั้งสองข้างจับที่ไม้ไผ่ตลอดเวลา
3. บันทึกเวลาหลังคนสุดท้ายผ่านเส้นชัย ทีมที่ใช้เวลาน้อยที่สุดและไม่ผิดกติกาเป็นทีมชนะ
4. ใช้กรรมการตัดสินอย่างน้อย 3 คน ทำหน้าที่ควบคุมการเล่นและการตัดสินผลการแข่งขัน
*****************************************
วิ่งชิงธง (วิ่งวัวคน)
วิ่งชิงธงหรือวิ่งชิ่งวัวคนเป็นการเล่นที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย นิยมเล่นกันในจังหวัดต่างๆของภาคกลาง การวิ่งลักษณะนี้เป็นการวิ่งเร็วนั่นเองสันนิษฐานว่าเลียนแบบมาจากการแข่งขันวิ่งวัวหรือวิ่งควายที่ใช้วัวหรือควายวิ่งแข่งกันจริงๆ การเล่นนี้มีมาแต่โบราณโดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันในสมัยกรุงสุโขทัย เรียกว่า คนแล่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า วิ่งวัว วิ่งควาย วิ่งวัวควาย และโคคน เป็นต้น ชาวบ้านในสมัยก่อนนิยมเล่นวิ่งวัวคนเพื่อเป็นการประลองความเร็ว เพื่อการออกกำลังกายตลอดจนเล่นเพื่อความสนุกสนาน และมักเล่นหลังฤดูเก็บเกี่ยวโดยใช้ทางเกวียนเป็นที่วิ่งมีการขึงเชือกกลางทางเกวียนเพื่อวิ่งชิงธงกัน ต่อมามีการพัฒนาเล่นเป็นทีมโดยจับมือกันออกวิ่งแล้วชิงธงและจากหลักฐานพบว่ามีการเล่นวิ่งวัวคนในงานนักขัตฤกษ์ต่างๆ งานเทศกาล งานประจำปี
ปัจจุบันกีฬาวิ่งวัวคนตามรูปแบบการเล่นในสมัยก่อนยังมีปรากฏอยู่บ้างในท้องถิ่นชนบท
อุปกรณ์
1. ธงพร้อมเสาหลักสำหรับเสียบธง
2. เสาหลักสำหรับพันเชือกผูกเอว
3. มีดหรือขวาน
4. ราวเชือกผูกธงสี
วิธีเล่น
1. จัดสถานที่เล่นที่เป็นพื้นกว้าง ความยาว 20 เมตร (พิจารณาจากสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ) ที่เส้นเริ่มปักเสาหนึ่งต้นและวัดจากเส้นเริ่มไปตามความยาวที่กำหนดปักหลักสำหรับเสียบธง
2. ผู้เล่นมี 2 คน ให้ผู้เล่นทั้งสองคนผูกเอวด้วยเชือกแล้วนำไปคล้องไว้กับเสาที่เส้นเริ่ม ผู้เล่นยืนเตรียมพร้อมที่จะออกวิ่ง กรรมการดูให้ผู้เล่นอยู่ในเส้นเริ่มระดับเดียวกัน ถ้าเล่นเป็นทีมให้มีผู้เล่นทีมละ 9 คน ผู้เล่นจะจับมือออกวิ่งพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเริ่ม
3. กรรมการให้สัญญาณปล่อยตัวผู้วิ่งและตัดเชือกที่ผูกเสาออก ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องวิ่งอย่างเร็วที่สุดไปที่เสาเส้นชัยที่ปักธงไว้และคว้าธงออกจากเสา ถ้าเป็นทีม ทีมที่วิ่งดึงธงออกจากเสาได้ก่อนเป็นผู้ชนะ กรณีจับธงพร้อมกันทีมที่จับธงสูงกว่าเป็นผู้ชนะโดยยึดด้านธงเป็นหลัก
กติกา
1. ผู้เล่นแต่ละคน (แต่ละทีม) ต้องไม่วิ่งเบียด วิ่งตัดหน้า หรือแกล้งผู้เล่นอื่นและขณะวิ่งต้องไม่วิ่งล้ำออกนอกช่องวิ่ง
2. ผู้เล่นจับมือออกวิ่งพร้อมกันและมือต้องไม่หลุดออกจากกัน
3. ผู้วิ่งหรือทีมที่ดึงธงออกจากเสาก่อนเป็นผู้ชนะ
4. มีกรรมการอย่างน้อย 2 คน ทำหน้าที่ปล่อยตัวและควบคุมการแข่งขันและตัดสินผลการแข่งขัน
วิ่งช้างศึก
วิ่งช้างศึกเป็นการเล่นของเด็กๆ ที่เลียนแบบผู้ใหญ่ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ขี่ช้างเด็กไม่มีช้างขี่ก็เอาคนขี่คอมาต่อตัวกันเป็นช้าง และให้มีคนขึ้นไปขี่ มีการเล่นกันแถวราชบุรี นครปฐมและจังหวัดอื่นๆ
วิธีเล่น
1. จัดสถานที่ที่มีความยาว 20 เมตร
2. กำหนดให้มีผู้เล่นเป็นทีมๆละ 6 คน ให้สองคนแรกเป็นช้างเท้าหน้า ยืนชิดกันหันหน้าไปทางเล่นชัย เอามือโอบหลังกันไว้
3. คนเล่นอีกสองคน เป็นช้างเท้าหลัง ยืนชิดกันอยู่ข้างหลังสองคนแรกและใช้มือโอบหลังกันไว้ มือข้างที่เหลือ (ข้างที่อยู่ด้านนอก) เกาะเอวผู้เล่นที่อยู่ด้านหน้า
4. ผู้เล่นคนที่ 5 ขึ้นคร่อมบนไหล่ของผู้เล่นทั้งสี่คน โดยให้มือทั้งสองวางอยู่บนไหล่ผู้เล่นที่เป็นช้างเท้าหน้า และเข่าทั้งสองวางอยู่บนไหล่ของผู้เล่นที่เป็นช้างเท้าหลัง โดยพยายามถ่ายน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสี่จุด
5. ผู้เล่นคนที่ 6 ขึ้นขี่คอคนที่ 5 โดยเท้าทั้งสองเหยียบไหล่ของผู้ที่เป็นช้างเท้าหน้าทั้งสองคน
6. เมื่อช้างทุกตัวพร้อม ให้ยืนอยู่หลังเส้นเริ่ม เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณให้ช้างทุกตัววิ่งเข้าสู่เส้นชัย
กติกา
1. ผู้แข่งขันทุกทีมต่อตัวเป็นช้าง รอหลังเส้นเริ่ม
2. เมื่อได้ยินสัญญาณแข่งขัน ให้ช้างทุกทีมวิ่งออกจากเส้นเริ่ม ทีมใดถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ(ช้างไม่แตกตัวไม่ล้ม)
**********************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น